การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการท่องเที่ยวในปีนี้ ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่กำลังคิดจะเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยลดน้อยลง ประเทศต่างๆต้องปรับมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวแปรผันไปตามสถานการณ์โรคระบาด ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจำกัดมากขึ้น ประเทศไทยปีนี้ จึงยังคงเน้นการท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งปีแรกของปี65 ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพเป็นหลัก เน้นการชำระเงินแบบ ลดการสัมผัส และหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่มีคนแออัดสูง
รูปแบบการท่องเที่ยวหลังยุคโรคระบาดจึงเปลี่ยนไป เป็นการถอดบทเรียนจากสถานการณ์โควิด-19 ที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะก้าวข้ามจาก New Normal ไปสู่ Next Normal ที่เน้นสุขอนามัยของประชาชน และความยืดหยุ่นในการให้บริการของเจ้าของธุรกิจมากขึ้น ดังนั้นเทรนด์นักท่องเที่ยวยุค Next Normal ให้ความสำคัญในการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เพราะยิ่งล็อกดาวน์ประเทศ ประชาชนกักตัวอยู่บ้าน จึงเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ธรรมชาติฟื้นฟู เมื่อเปิดประเทศประชาชนจึงอยากกลับไปใกล้ชิดธรรมชาติ บำบัดความเครียดมากยิ่งขึ้น การให้บริการที่พักที่มีมาตรการป้องกันโรคที่ดี จึงตอบโจทย์ความต้องการและสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวได้ดีเป็นอย่างดี ซึ่งไทยก็มีมาตรฐานความสะอาดอยู่ (Amazing Thailand Safety & Health Administration : SHA) เจ้าของธุรกิจผู้ให้บริการจึงต้องปรับบริการให้มีความยืดหยุ่นสูง เพื่อรองรับสถานการณ์และการเข้าพักของนักท่องเที่ยว ซึ่งคนกลุ่มเหล่านี้พร้อมจ่ายในราคาสูง
ผู้คนยุคใหม่อยากเปลี่ยนประสบการณ์ จากทำงานที่บ้านเป็นทำงานในสถานที่แปลกใหม่ หลีกเลี่ยงความจำเจ แล็ปท็อปจะกลายเป็นของติดกระเป๋านักท่องเที่ยว เช่นเดียวกับสัญญาณ WiFi แรงดีไม่มีสะดุด จะเป็นปัจจัยในการเลือกที่พักของนักท่องเที่ยวยุคปัจจุบัน
เทรนด์การท่องเที่ยวที่เน้นความเรียบง่าย ใกล้ชิดธรรมชาติก็เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูงในยุคนี้ เนื่องจากธรรมชาติช่วยบำบัดความเครียด ทำให้นักท่องเที่ยวผ่อนคลายกังวล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องเที่ยว ความเครียดสะสม ออกจากบ้านมาท่องเที่ยววิถีใหม่ ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โรคระบาดมากยิ่งขึ้น ช่วยฟื้นฟูสุขภาพกายใจมากขึ้น ผู้คนจะเริ่มมองหาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่คำนึงถึงขีดความสามารถในการรองรับของธรรมชาติ ชุมชน ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ท่องเที่ยว ซึ่งแน่นอนต้องเน้นความปลอดภัยในการเดินทาง คาดหวังว่าสถานที่ท่องเที่ยวทั้งหลายจะบังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเน้นด้านสุขภาพ
เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องหลากหลาย ประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนการปรับโครงสร้าง คือความร่วมมือในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจที่จะต้องเพิ่มความน่าสนใจให้กับสถานที่ท่องเที่ยวตามฤดูกาล ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่หลากหลายและกระตุ้นการใช้จ่ายสูงขึ้น ภาครัฐที่ต้องเข้ามาขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน และประชาชนที่มีส่วนสำคัญในการรักษาแหล่งท่องเที่ยวให้มีความสมบูรณ์น่าท่องเที่ยว และช่วยสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวที่ดีให้กับผู้มาเยือนเพื่อให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยกลับมาเติบโตได้ในอีกไม่ช้า