บทความอื่นๆ

พาสปอร์ตและวีซ่าต่างกันอย่างไร

       หลายท่านที่กำลังจะเป็นนักเดินทางรายใหม่ อาจจะข้องใจว่าวีซ่ากับพาสปอร์ตคืออะไร ทำอะไร หรือต่างงกันหรือไม่วันนี้เราหาข้อมูลมาให้หายข้องใจกันค่ะ การเดินทางไปต่างประเทศ เราต้องใช้เอกสารยืนยันตัวตนก่อนเข้าสู่ประเทศนั้นๆ ซึ่งเอกสารที่จะใช้คือ พาสปอร์ตและวีซ่า หลายท่านอาจจะยังไม่รู้ว่าพาสปอร์ตและวีซ่าต่างกันอย่างไร ในเมื่อมีหน้าที่ใช้ยื่นเข้าประเทศเหมือนกัน วันนี้เราได้ไปหาข้อมูลมาให้ทุกท่านแล้วว่าเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร แล้วการเดินทางไปในแต่ละประเทศเราต้องใช้อะไรบ้าง

       เริ่มจากพาสปอร์ต หรือหนังสือเดินทาง คือ เอกสารระบุตัวตนของตัวเราเอง ใช้ในการเดินทางไปต่างประเทศ ภายในเล่มจะมีข้อมูลส่วนตัว โดยปกติเมื่อประชาชนทั่วไปติดต่อกรมการกงสุล เพื่อทำหนังสือเดินทาง เจ้าหน้าที่จะออกหนังสือเดินทางแบบธรรมดาให้ สังเกตได้จากหน้าปกจะมีสีแดงเลือดหมู โดยสามารถใช้งานได้ตั้งแต่เรื่องท่องเที่ยว ไปเยี่ยมญาติ หรือไปเรียนหนังสือที่ต่างประเทศ ซึ่งในกรณีไปเรียนต่างประเทศจะต้องขอวีซ่าเพื่อการศึกษา สำหรับชาวต่างชาติจะต้องทำพาสปอร์ตด้วยเช่นกันถ้าจะเข้าประเทศไทย แต่ไม่สามารถใช้ยื่นสมัครทำงานในประเทศไหน ๆ ได้ทันทีนะคะ

ปัจจุบันหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ตแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

        หนังสือเดินทางธรรมดา (หน้าปกสีแดงเลือดหมู) ออกให้สำหรับประชาชนทั่วไป หนังสือเดินทางธรรมดามีด้วยกัน 2 แบบ คือ แบบมีอายุ 5 ปี และแบบมีอายุ 10 ปี โดยแบบอายุ 5 ปี จะเสียค่าธรรมเนียมในการทำ 1,000 บาท และแบบ 10 ปี จะเสียค่าธรรมเนียมในการทำ 1,500 บาท

       หนังสือเดินทางราชการ (หน้าปกสีน้ำเงินเข้ม) มีอายุไม่เกิน 5 ปี หรือเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ ผู้ถือต้องใช้ในราชการเท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้ในการเดินทางส่วนตัว โดยออกให้เฉพาะข้าราชการ, เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่จัดตั้งตามรัฐธรรมนูญ และสมาชิกรัฐสภา ซึ่งเดินทางไปราชการในต่างประเทศ และบุคคลอื่นใดที่เดินทางเพื่อทำประโยชน์แก่ทางราชการตามที่กระทรวงการต่างประเทศอนุมัติ โดยผู้ที่ถือหนังสือเดินทางต้องมาดำเนินการเอง เนื่องจากต้องเก็บข้อมูลชีวภาพของผู้ถือเอกสาร ได้แก่ ภาพใบหน้า และลายนิ้วมือ ซึ่งหนังสือเดินทางข้าราชการมีด้วยกัน 2 แบบ คือ หนังสือเดินทางราชการ (Official Passport) เล่ม F และ หนังสือเดินทางยกเว้นค่าธรรมเนียม (Gratis) เล่ม G โดยทั้งสองแบบต่างกันตรงที่เล่ม F มีค่าธรรมเนียม แต่เล่ม G จะไม่มีค่าธรรมเนียม 

       หนังสือเดินทางทูต (หน้าปกสีแดงสด) ประเภทนี้จะมีอายุไม่เกิน 5 ปี ไม่สามารถต่ออายุเพิ่มได้ มีข้อกำหนดออกให้เฉพาะบุคคลที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ หรือข้าราชการชั้นสูง (นายกรัฐมนตรี, ประธานองคมนตรีและองคมนตรี, ประธานศาลฎีกา เป็นต้น)

       หนังสือเดินทางชั่วคราว (หน้าปกสีเขียว) หนังสือเดินทางชั่วคราว อายุ 1 ปี จะออกให้ในกรณีที่คนไทยทำหนังสือเดินทางสูญหายหรือหมดอายุ และมีความจำเป็นเร่งด่วนจะต้องเดินทางไปต่างประเทศ โดยไม่อาจรอการออกหนังสือเดินทาง E-Passport ได้ อย่างไรก็ดี หนังสือเดินทางชั่วคราวมีข้อจำกัด คือ ไม่มี Machine Readable Barcode ซึ่งหากนำไปขอวีซ่า บางประเทศอาจไม่ยอมรับ

       ส่วนวีซ่า (VISA) คือ หลักฐานสำคัญในการอนุญาตในการขอเข้าประเทศ สำหรับคนที่ไม่ได้มีสัญชาติของประเทศนั้น โดยอาจจะเป็นรอยประทับ หรือ เป็นแผ่นกระดาษสติกเกอร์ติดในอยู่ในหนังสือเดินทาง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นตราประทับที่อยู่ในหนังสือเดินทาง แต่ก็มีข้อยกเว้นในบางประเทศที่ได้ทำข้อตกลงกับประเทศนั้น ๆ จึงทำให้ไม่ต้องขอวีซ่าระหว่างประเทศ หรือบางประเทศอาจจะยกเว้น โดยจะอนุญาตให้คนสัญชาติอื่น ๆ เดินทางเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าเลยก็ได้

ประเภทและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการตรวจลงตราประเภทต่างๆ ของวีซ่า

ประเภทคนเดินทางผ่านราชอาณาจักร (Transit Visa) จะออกให้แก่คนประเทศที่ไม่ได้ถือสัญชาตินั้น ที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาในประเทศ เพื่อเดินทางผ่าน, เล่นกีฬา, เป็นผู้ควบคุมพาหนะ หรือเป็นคนประจำพาหนะที่เข้ามายังท่า โดยวีซ่าประเภทนี้จะมีอายุ 3 เดือน พักได้ไม่เกินครั้งละ 30 วัน ปกติจะมีอายุ 5 วัน สำหรับผ่านไปยังประเทศอื่นที่เป็นจุดหมาย ที่ไม่ใช่ประเทศที่ได้รับอนุญาตหรือขอเอาไว้

ประเภทนักท่องเที่ยว (Tourist Visa) จะออกให้แก่คนประเทศที่ไม่ได้ถือสัญชาตินั้น ที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาในประเทศ เพื่อการท่องเที่ยว โดยวีซ่าประเภทนี้จะมีอายุวีซ่า 3 เดือน หรือ 6 เดือน พักได้ไม่เกินครั้งละ 60 วัน

ประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant Visa) จะออกให้แก่คนประเทศที่ไม่ได้ถือสัญชาตินั้น ที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาในประเทศ เพื่อการปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ, การติดต่อประกอบธุรกิจ, การทำงาน, การลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง, การเข้ามาใช้ชีวิตในบั้นปลายในฐานะผู้สูงอายุ, การเข้ามาในประเทศเพื่อการรักษาพยาบาล โดยวีซ่าประเภทนี้มีอายุวีซ่า 3 เดือน สำหรับเดินทางครั้งเดียว หรือ 1 ปี สำหรับเดินทางหลายครั้ง พักได้ไม่เกินครั้งละ 90 วัน

ประเภททูต (Diplomatic Visa) จะออกให้แก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางการทูตหรือกงสุล หรือการปฏิบัติหน้าที่ราชการ และผู้ร้องจะต้องถือหนังสือเดินทางทูต หรือ หนังสือเดินทางสหประชาชาติ ซึ่งเทียบเท่าหนังสือเดินทางทูตเท่านั้น โดยพักได้ไม่เกินครั้งละ 90 วัน

ประเภทราชการ (Official Visa) จะออกให้ในการขอรับการตรวจลงตราเข้ามาในประเทศเป็นการชั่วคราว เพื่อ ปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ และผู้ร้องจะต้องถือหนังสือเดินทางราชการ หรือ หนังสือเดินทางสหประชาชาติ ซึ่งเทียบเท่าหนังสือเดินทางราชการเท่านั้น โดยพักได้ไม่เกินครั้งละ 90 วัน

ประเภทอัธยาศัยไมตรี (Courtesy Visa) จะออกให้เฉพาะการขอรับการตรวจลงตราเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว หรือ การขอรับการตรวจลงตราของผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา โดยวีซ่าประเภทนี้จะมีอายุ 3 เดือน หรือ 6 เดือน พักได้ไม่เกินครั้งละ 90 วัน

วีซ่าธุรกิจ (Business Visa) มีเพื่อวัตถุประสงค์ในการทำการค้าขาย หรือ ติดต่อกับธุรกิจในประเทศของผู้ออกวีซ่า หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับธุรกิจ

วีซ่าทำงาน ชั่วคราว (Temporary Worker Visa) เป็นวีซ่าสำหรับแสดงให้บุคคลนั้น ๆ ได้รับอนุญาตให้ทำงานภายในประเทศนั้น ๆ ได้ชั่วคราว

วีซ่า ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa On-Arrival) เป็นวีซ่าที่จะได้รับเมื่อเดินทางสู่ประเทศนั้น ๆ แล้ว โดยจะได้รับตรงจุดตรวจคนเข้าเมือง

วีซ่าคู่สมรส หรือ วีซ่าแต่งงาน (Spouse Visa, Partner Visa, Marriage Visa) เป็นวีซ่าที่อนุญาตให้คู่แต่งงานที่ได้รับสัญชาตินั้น ๆ สามารถเดินทางเข้าสู่ประเทศของอีกฝ่าย และพำนักได้ถาวรตามบุคคลภายในครอบครัว

วีซ่านักเรียน (Student Visa) เป็นวีซ่าที่อนุญาตสำหรับนักเรียน หรือ นักศึกษา เข้ามาศึกษาต่อในประเทศนั้น ๆ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ โดยในบางประเทศใช้วีซ่าท่องเที่ยวแทน

วีซ่าท่องเที่ยวและทำงาน (Working Holiday Visa) เป็นวีซ่าที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงระหว่างประเทศผู้เป็นภาคี โดยสามารถเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ได้

วีซ่านักเขียน (Jounalist Visa) เป็นวีซ่าที่อนุมัติให้กับนักเขียน หรือ สื่อข่าวที่ได้รับการยอมรับ

วีซ่าอพยพ (Immigration Visa) เป็นวีซ่าที่อนุมัติให้กับบุคคลที่ต้องการอพยพไปตั้งถิ่นฐานตามประเทศที่อนุญาต

วีซ่าผู้รับบำนาญ หรือ วีซ่าผู้เกษียณ (Pensioner Visa หรือ Retirement Visa) เป็นวีซ่าที่อนุญาตสำหรับคนที่มีอายุถึงเกณฑ์ที่กำหนด (ประมาณ 50 ปีขึ้นไป) โดยต้องมีรายได้ในต่างประเทศนอกเหนือจากประเทศที่ออกวีซ่าดังกล่าวให้ ซึ่งต้องเพียงพอต่อการดำรงชีพ และไม่มีความประสงค์จะทำงานแล้วเท่านั้น

อิเล็กทรอนิค วีซ่า (Electronics Visa เรียกสั้น ๆ ว่า e-visa) เป็นระบบวีซ่าที่ใช้การบันทึกข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ซึ่งเชื่อมโยงกับหมายเลขหนังสือเดินทาง และบาร์โค้ด โดยจะไม่มีป้าย หรือ สติ๊กเกอร์ติดลงในหนังสือเดินทาง เป็นการอำนวยความสะดวก เพื่อลดความแออัด และสร้างพื้นข้อมูลเชื่อมกับหน่วยงานความมั่นคง

วีซ่าลูกเรือ (Ship Crew Visa) เป็นวีซ่าสำหรับลูกเรือของสายการบินที่ต้องการเดินทางมาพร้อมกับสายการบินนั้น ๆ หรือ ลูกเรือที่ทำงานให้กับเรือเดินสมุทรของต่างประเทศที่แล่นอยู่ในบริเวณน่านน้ำภายในไหล่ทวีปนอกชายฝั่ง

       แต่ละประเภทของวีซ่าก็จะมีหน้าที่การใช้งานและวันเวลาที่กำหนดการอยู่ต่างกัน เช่น วีซ่านักเรียนก็จะสามารถอยู่ได้ตามกำหนดระยะเวลาในการเรียน หรือวีซ่าเดินทางผ่านก็จะพักอยู่ประเทศที่เดินทางผ่านได้แค่ไม่เกิน 5 วัน เป็นต้น นี่ก็จะเป็นตัวอย่างระยะเวลาการอยู่ในแต่ละประเทศแค่บางส่วน หากอยู่เกินกำหนดก็จะถือว่าทำผิดกฎหมายและจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย หลังจากนั้นอาจจะไม่สามารถเดินทางเข้าสู่ประเทศนั้นได้อีก สำหรับใครที่มีความต้องการที่จะขอวีซ่าสามารถทำเรื่องยื่นขอได้ที่ สถานทูตหรือศูนย์รับคำร้องขอ ที่ใกล้บ้านคุณได้เลย

       และส่วนสุดท้ายที่จะพูดถึงในวันนี้คือ ความเหมือนและแตกต่างของ วีซ่าและพาสปอร์ต พาสปอร์ตคือหนังสือการเดินทางที่ออกโดยรัฐบาลของแต่ละประเทศที่บุคคลนั้นถือสัญชาติอยู่ เพื่อใช้เดินทางเข้าสู่ประเทศที่ต้องการไป ส่วนวีซ่าคือเอกสารที่ทางฝั่งประเทศที่เราต้องการจะเดินทางไปเรียกดู หรือเข้าใจง่ายๆ คือต้องขอพาสปอร์ตเพื่อที่จะใช้ในการยื่อขอวีซ่า สำหรับใช้ในการเดินทางเข้าสู่ประเทศที่ต้องการไป หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งคือพาสปอร์ตเปรียบเหมือนบัตรประชาชนที่จะใช้ได้ทั่วประเทศในการแสดงตัวตน ส่วนวีซ่าคือเอกสารที่จะใช้ในการเดินเข้าไปในประเทศนั้น ทั้งนี้ทั้งนั้นในการเดินทางไปแต่ละประเทศไม่ว่าจะด้วยจุดประสงค์ใดควรเดินทางไปแบบถูกกฎหมาย และควรดำเนินเอกสารตามที่กำหนดของแต่ละประเทศไม่ควรทำผิดกฎของประเทศใด เพื่อสิทธิ์ประโยชน์ของทุกคน